Toggle navigation

บทความ

ฟัน SUPERMAN ของน้องอารม

ฟัน SUPERMAN ของน้องอารม หมอเปียยังจำได้ดี บ่ายแก่ๆ วันหนึ่งคุณแม่น้องอารมพาลูกชายมาทำฟันเป็นครั้งแรกในชีวิต 6 ขวบของแก น้องอารมแต่งชุดนักเรียนอนุบาล สะพายเป้ใบเล็กๆ ไว้กลางหลัง พูดจาซ้ำๆ อยู่ว่า “ไปลีโอแลนด์ ไปลีโอแลนด์” เมื่อหมอเปียชวนคุยถึงเพื่อนที่โรงเรียน เด็กน้อยตอบเป็นประโยคสั้นๆ ซ้ำๆ “มีเพื่อน มีเพื่อน”

น้องอารมยอมขึ้นเตียงทำฟันโดยดี อ้าปากกว้างยอมให้หมอตรวจฟัน พบว่าไม่มีฟันผุ จึงแนะนำให้เคลือบร่องฟันกราม คุณแม่ขอให้หมอเคลือบร่องฟันกรามลูกชายในวันนั้นเลย

“หนูเป็นคนพิเศษนะลูก” คุณแม่เปรยขึ้นแล้วบอกกับหมอว่า “น้องอารมเป็นเด็ก AUTISTIC ค่ะ”

ฟังแล้วหมอเปียนึกร้อง อ๋อ ในใจ มิน่าเล่า เด็กน้อยถึงพูดเพียงประโยคสั้นๆ ซ้ำๆ รู้เช่นนี้แล้วยิ่งต้องใส่ใจพูดคุย ทำความรู้จักแกให้มากขึ้น

“น้องอารมมีความสามารถพิเศษทางด้านไหนคะ” หมอถามคุณแม่ “เด็ก AUTISTIC คนหนึ่งที่หมอรู้จักเก่งทางคำนวณ”

“อารมเก่งภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ค่ะ” คุณแม่เล่าอย่างภูมิใจ

หลังจากทำความสนิทสนมพักใหญ่ หมออธิบายถึงวิธีเคลือบร่องฟัน ให้แกฟังว่า ก่อนอื่นหมอจะขัดฟันหนูจนสะอาด แล้วเอาพู่กันป้ายน้ำมะนาวสีเขียวไปทาที่ฟันหนู ตอนนี้ต้องอยู่นิ่งๆ นะคะ อย่าให้ลิ้นมาโดนฟัน เพราะน้ำมะนาวเปรี้ยวมาก เสร็จแล้วหมอจะล้างฟันหนูจนสะอาดเอี่ยม ฟันจะขาวสวย ที่นี้จะเอาน้ำนมมาหยดบนฟัน เอาไฟฉายส่อง เมื่อเสร็จเรียบร้อย ฟันหนูจะแข็งแรงกลายเป็นฟัน SUPERMAN

น้องอารมมีทีท่าเข้าอกเข้าใจเป็นอันดี แต่เมื่อหมอเริ่มทำงานจริงๆ เด็กน้อยจะผลุดลุกขึ้นนั่งอย่างหวาดๆ เป็นเช่นนี้ห้าหกครั้ง มิไยที่หมอและผู้ช่วยจะทั้งปลอบ ทั้งคุณแม่จะยื่นคำขาดไม่พาไปเที่ยวลีโอแลนด์ถ้าไม่ทำฟัน

หมอเปียเชื่อในหลัก “ไม่บังคับฝืนใจเด็ก” ทั้งนี้เพราะการรักษาฟันไม่เหมือนการตรวจรักษาโรคทั่วๆ ไปที่ใช้เวลาเพียงประเดี๋ยวเดียว หรือถ้าเด็กไม่ให้ความร่วมมือหมอก็ยังสามารถตรวจ และรักษาให้หายด้วยยา แต่การรักษาฟันเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้เวลา จึงต้องการความร่วมมืออย่างสูง ดังนั้นถ้าหมอคิดจะรักษาฟันให้เด็กที่ไม่พร้อมมีทางเดียวคือ จับแกตรึงเข้ากับอุปกรณ์มัดเด็ก ลักษณะที่เป็นแผ่นไม้กระดาน มีแถบรัดตัว, รัดขา, รัดมือ และรัดหัว ลังใช้ยางกัดค้ำขากรรไกรให้อ้าไว้ เด็กที่ไม่ยอมให้หมอทำฟันเพราะความดื้อรั้น มักจะไม่รู้สึกกระไรนักที่ถูกพันธนาการเช่นนี้ แต่เด็กน้อยที่กลัวจริงๆ อาจฝังใจกลัวการทำฟันจนกระทั่งแกโตเป็นผู้ใหญ่เลยทีเดียว

อ้าว! แล้วจะทำอย่างไร คำตอบคือ เด็กจะให้ความร่วมมือกับคนที่แกรู้สึกไว้ใจ คนที่ใสใจความรู้สึกของแกว่า หนูกลัวไอ้เครื่องเสียงดังๆ หนูเมื่อยปากขอหนูพักซักหน่อยเถิด อย่าทำหนูเจ็บนะ อ้อ! แล้วให้รางวัลหนูด้วย

เด็กๆ ที่ไม่เคยปวดฟันมักไม่ทราบหรอกว่า ทำไมแกจะต้องมานอนให้หมออุดฟัน เคลือบร่องฟัน หรืออื่นๆ หมอต้องโยงเรื่องฟันไปยังเรื่องที่แกเข้าใจง่ายๆ เช่น แจ๊ค ฟันหนูเน่าแล้วนะ ถ้าหนูไม่รีบให้หมอจับหนอนออก ปากจะเหม็นจนเพื่อนๆไม่เล่นด้วย ไม่มีใครอยากคุยกับคนที่มีหนอนในปากหรอก กลัวมันกระโดดเข้าในปากของเรา ขนาดหมอจะล้างฟันให้หนู ยังต้องเอาผ้าปิดปากไว้เลย

เมื่อน้องอารมไม่พร้อม หมอจึงไม่บังคับ คุณแม่บอกลูกชายว่า “หนูไม่ทำฟัน แม่ไม่พาไปเที่ยวลีโอแลนด์แล้ว”

น้องอารมฮึดฮัด พูดซ้ำคำเดิม “จะไปลีโอแลนด์” หมอเปียฟังวลีนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนพอจะเข้าใจเจ้าหนูได้ลาง ๆ บางทีชีวิตของแกซึ่งสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างยากลำบาก สวนสนุกลีโอแลนด์อาจเป็นสถานที่เดียวที่แก่จะสนุกสนานได้อย่างอิสระและสะดวกใจ

“น้องอารมคะ หนูรู้มั้ยที่ประตูทางเข้าลีโอแลนด์ พี่ยามที่เก็บตั๋วน่ะจะขอดูฟันเด็กทุกคนว่า ได้เคลือบฟันเป็นฟัน SUPERMAN รึยัง” หมอเปียใช้กลอุบายใหม่มุสาวาจากับเด็กน้อย “เด็กที่ยังไม่ได้เคลือบฟัน ถึงมีตั๋วยามก็ไม่ให้เข้าไปเล่นหรอกค่ะ”

น้องอารมหน้าเหลอ แกไม่เคยได้ยินกติกานี้มาก่อน จึงตั้งใจฟังอย่างจริงจังยิ่งกว่าครั้งใด ๆ “เพราะอะไรทราบมั้ยคะ” เจ้าหนูนิ่ง หมอรีบรุกเข้าประเด็นสำคัญทันที “ถ้าฟันเด็กยังไม่เป็นฟัน SUPERMAN จะเล่นเครื่องเล่นบางอย่างไม่ไหวหรอกค่ะ อันตราย”

เหตุผลของหมอคงฟังสมเหตุสมผลน่าดู น้องอารมจึงยอมให้เคลือบร่องฟันในคราวแรกถึง 3 ซี่ ก่อนกลับบ้าน หมอแอบกระซิบย้ำกับคุณแม่ ให้บอกยามที่ประตูสวนสนุกช่วยตรวจฟันแกก่อนผ่านเข้าไปเล่น

คุณแม่ยิ้ม หมอก็ยิ้ม น้องอารมยิ้มกว้างที่สุด พึมพำกับตัวเองเหมือนเดิม “ไปลีโอแลนด์ ไปลีโอแลนด์”